วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

ปรัชญาการเมือง

ศ.ดร.ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ



ภาพ The Death of Socrates

ปรัชญาการเมือง คือการศึกษาหลักการและพื้นฐานของ รัฐ รัฐบาล การเมือง เสรีภาพ ความยุติธรรม ทรัพย์สินส่วนบุคคล สิทธิ กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ สิ่งเหล่านี้คือแก่นสารหรือสิ่งไม่จำป็นกันแน่ อะไรคือความชอบธรรมของรัฐและผู้ใช้อำนาจและเจ้าหน้าที่ สิทธิและเสรีภาพใดบ้างที่ควรบังคับและไม่บังคับ อะไรคือกฎหมาย หน้าที่ของพลเมืองคืออะไรและมีอะไรบ้าง และเมื่อไหร่ที่รัฐจะหมดความชอบธรรมในการปกครอง (จากวิกิพีเดีย)

ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) คือสาขาของปรัชญาประยุกต์ที่ศึกษาถึงชีวิตทางสังคมหรือชีวิตทางการเมืองของมนุษย์ ปัญหาที่ปรัชญาการเมืองศึกษาจึงเป็นเรื่องของสังคม ( Society) และรัฐ ( The State ) ในแง่ของธรรมชาติ ( Essence ) บ่อเกิด ( Origin ) และคุณค่า ( Value ) ของรัฐและสังคม หรืออาจกล่าวได้ง่าย ๆ ว่า นักปรัชญาการเมืองเป็นกลุ่มของนักปรัชญาที่ต้องการเสนอความคิดเกี่ยวกับองค์กรที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ในการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือสังคม นักปรัชญาการเมืองไม่ลืมที่จะกล่าวถึงเรื่อง ความยุติธรรม ( Justice ) และวิถีที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมของสังคม การออกกฎและการเคารพกฎ ดังนั้น ถ้าจะกล่าวให้กระชับยิ่งขึ้น ก็คือ ในขอบข่ายของปรัชญาการเมืองนี้ นักปรัชญาพยายามเสนออุดมการณ์เกี่ยวกับสังคมและรัฐที่เขาคิดว่า ควรจะเป็นนั่นเอง ไม่ได้กล่าวถึงการเมืองการปกครองที่เป็นจริงที่ได้ปรากฏหรือกำลังปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศต่าง ๆ จริง ๆ

นักปรัชญาการเมืองสมัยโบราณ
หมายถึง ปรัชญาการเมืองของนักปรัชญากรีก โดยเฉพาะแนวความคิดของเพลโตและอริสโตเติล ซึ่งเชื่อในความจำเป็นและความเป็นธรรมชาติของรัฐ โดยเฉพาะอริสโตเติล ถือว่า มนุษย์คือสัตว์สังคมหรือสัตว์การเมือง หมายถึง ความจำเป็นที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมโดยธรรมชาติ เพราะอริสโตเติลเห็นว่า รัฐเป็นส่วนที่สามารถอำนวยประโยชน์ให้มนุษย์ได้พัฒนารูปแบบของตน หรือพัฒนาลักษณะเฉพาะของตน นั่นคือ ความมีเหตุผลของมนุษย์ รัฐจึงสามารถทำให้มนุษย์มีคุณธรรมทางปัญญาได้ ส่วนเพลโตนั้นเชื่อในความดีของรัฐที่ปกครองโดยราชาปราชญ์ผู้ที่มีจิตภาคปัญญาเด่น และมีพวกจิตใจกล้าหาญเป็นทหาร และมีพวกลุ่มหลงในกิเลส
เป็นคนงาน

นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยกลาง
หมายถึง นักปรัชญาการเมืองสมัยยุโรปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาคริสต์ ดังนั้น ความรู้สึกต่อรัฐของนักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยกลางจึงเป็นไปในทางลบ และมองเห็นว่ารัฐเป็นความชั่วร้าย ศาสนจักรจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่ารัฐและควรเป็นฝ่ายควบคุมรัฐ ตัวอย่างของนักปรัชญาการเมืองสมัยกลาง คือ เซนต์ ออกัสติน อย่างไรก็ตาม หลังจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของยุโรป ความคิดเรื่องปัจเจกบุคคลและสิทธิของบุคคลเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แนวโน้มทางความคิดดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปสู่ความคิดที่ว่า รัฐต้องเป็นสิ่งที่เป็นอิสระจากการควบคุมหรือพ้นจากอิทธิพลของอำนาจภายนอก เช่น ศาสจักร ตัวอย่างเช่น ความคิดของมาเคียเวลลี่ เป็นต้น

นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยใหม่
หมายถึงว่า นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยใหม่ มีแนวโน้มที่มองเห็นความจำเป็นของรัฐ ถึงแม้ว่ารัฐจะไม่ใช่สถาบันธรรมชาติของมนุษย์ แต่รัฐนั้นมีอำนาจจำกัดลง เพราะกำเนิดของรัฐเกิดจากข้อตกลงของราษฎร์ หรือปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นอิสระตามสภาพธรรมชาติ หรือมีสิทธิบางอย่างโดยธรรมชาติ เมื่อตกลงกันโอนอำนาจตามธรรมชาติของตนให้คนเพียงคนเดียวหรือคนกลุ่มหนึ่ง เมื่อนั้นรัฐหรือสังคมจึงเกิดขึ้น แต่การตกลงของราษฎร์เกิดขึ้นเพราะราษฎร์เห็นประโยชน์จากการมีรัฐที่สามารถรักษาสิทธิ์ที่ตนมีโดยธรรมชาติดีกว่าไม่มีรัฐ นั่นคือ นักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ยึดถือทฤษฎีสัญญาประชาคม ( Social Contract ) ดังนั้น ถ้ารัฐหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจไม่สนองตามความต้องการของราษฎร์หรือประชาชน ประชาชนมีสิทธิ์เรียกอำนาจคืนและโอนให้บุคคลอื่น ๆ ได้ ตัวอย่างของนักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยใหม่ คือ โธมัส ฮอบส์, จอห์น ล๊อค และรุสโซ

นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยปัจจุบัน
นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยปัจจุบันที่สำคัญ คือ เบ็นธัม ผู้ถือหลักประโยชน์นิยมว่าเป็นจุดหมายของจริยธรรมและสังคม กล่าวคือ ในแง่ของจริยธรรม ความประพฤติดี คือ ความประพฤติที่ก่อให้เกิดผล คือ ความสุขแก่คนหมู่มาก ดังนั้น จุดหมายของรัฐก็เช่นเดียวกัน ต้องก่อให้เกิดความสุขแก่คนส่วนใหญ่ กฎหมายต้องควบคุมให้เกิดผลประโยชน์ คือ ความสุขแก่คนส่วนใหญ่

ส่วนมิลล์ซึ่งเป็นนักประโยชน์นิยมอีกคนหนึ่งจะเน้นหนักในเรื่องเสรีภาพ ดังนั้น การกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบเฉพาะผู้กระทำเท่านั้นย่อมเป็นการกระทำที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ เช่น การแสวงหาสัจจะ

ส่วนนักคิดสำคัญผู้มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางของยุโรป คือ มาร์กซ์ ผู้มีความเห็นว่า รัฐเป็นสิ่งไม่จำเป็นสำหรับสังคมมนุษย์ เพราะรัฐกำเนิดขึ้นเนื่องจากโครงสร้างทางการผลิตที่เปิดโอกาสให้มีคนผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และคนกลุ่มนี้สร้างอำนาจขึ้นมากดขี่ขูดรีด และรักษาสถานภาพของตนไว้ ดังนั้น ถ้าเป็นสังคมที่มีวิธีการผลิตแบบไม่มีใครเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ความแตกต่างทางชนชั้นก็หายไป รัฐก็พลอยหายไปด้วย

นักปรัชญาการเมืองกลุ่มอนาธิปไตย
เป็นกลุ่มนักปรัชญาการเมืองที่มีทัศนะเชิงลบต่อรัฐโดยสิ้นเชิง พวกเขาชิงชังไม่ใช่แต่รัฐเท่านั้น แต่ชิงชังองค์กรหรือการจัดการทุกชนิดและทุกรูปแบบ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำลายความสำคัญของปัจเจกบุคคลทั้งสิ้น ดังนั้น สังคมควรเกิดจากความร่วมมือที่เกิดจากความรู้สึกของเพื่อน เกิดจากความเข้าใจ ไม่ใช่เกิดจากการถูกบังคับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามนุษย์ขจัดรัฐเสียได้ ความชั่วร้ายที่กำลังเกาะกินมนุษย์อยู่ทุกวันนี้ก็จะพลอยสลายไปด้วย ตัวอย่างของนักปรัชญากลุ่มนี้ คือ วิลเลี่ยม กอดวิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น