วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

ปรัชญาการเมือง

ศ.ดร.ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ



ภาพ The Death of Socrates

ปรัชญาการเมือง คือการศึกษาหลักการและพื้นฐานของ รัฐ รัฐบาล การเมือง เสรีภาพ ความยุติธรรม ทรัพย์สินส่วนบุคคล สิทธิ กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ สิ่งเหล่านี้คือแก่นสารหรือสิ่งไม่จำป็นกันแน่ อะไรคือความชอบธรรมของรัฐและผู้ใช้อำนาจและเจ้าหน้าที่ สิทธิและเสรีภาพใดบ้างที่ควรบังคับและไม่บังคับ อะไรคือกฎหมาย หน้าที่ของพลเมืองคืออะไรและมีอะไรบ้าง และเมื่อไหร่ที่รัฐจะหมดความชอบธรรมในการปกครอง (จากวิกิพีเดีย)

ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) คือสาขาของปรัชญาประยุกต์ที่ศึกษาถึงชีวิตทางสังคมหรือชีวิตทางการเมืองของมนุษย์ ปัญหาที่ปรัชญาการเมืองศึกษาจึงเป็นเรื่องของสังคม ( Society) และรัฐ ( The State ) ในแง่ของธรรมชาติ ( Essence ) บ่อเกิด ( Origin ) และคุณค่า ( Value ) ของรัฐและสังคม หรืออาจกล่าวได้ง่าย ๆ ว่า นักปรัชญาการเมืองเป็นกลุ่มของนักปรัชญาที่ต้องการเสนอความคิดเกี่ยวกับองค์กรที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ในการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือสังคม นักปรัชญาการเมืองไม่ลืมที่จะกล่าวถึงเรื่อง ความยุติธรรม ( Justice ) และวิถีที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมของสังคม การออกกฎและการเคารพกฎ ดังนั้น ถ้าจะกล่าวให้กระชับยิ่งขึ้น ก็คือ ในขอบข่ายของปรัชญาการเมืองนี้ นักปรัชญาพยายามเสนออุดมการณ์เกี่ยวกับสังคมและรัฐที่เขาคิดว่า ควรจะเป็นนั่นเอง ไม่ได้กล่าวถึงการเมืองการปกครองที่เป็นจริงที่ได้ปรากฏหรือกำลังปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศต่าง ๆ จริง ๆ

นักปรัชญาการเมืองสมัยโบราณ
หมายถึง ปรัชญาการเมืองของนักปรัชญากรีก โดยเฉพาะแนวความคิดของเพลโตและอริสโตเติล ซึ่งเชื่อในความจำเป็นและความเป็นธรรมชาติของรัฐ โดยเฉพาะอริสโตเติล ถือว่า มนุษย์คือสัตว์สังคมหรือสัตว์การเมือง หมายถึง ความจำเป็นที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมโดยธรรมชาติ เพราะอริสโตเติลเห็นว่า รัฐเป็นส่วนที่สามารถอำนวยประโยชน์ให้มนุษย์ได้พัฒนารูปแบบของตน หรือพัฒนาลักษณะเฉพาะของตน นั่นคือ ความมีเหตุผลของมนุษย์ รัฐจึงสามารถทำให้มนุษย์มีคุณธรรมทางปัญญาได้ ส่วนเพลโตนั้นเชื่อในความดีของรัฐที่ปกครองโดยราชาปราชญ์ผู้ที่มีจิตภาคปัญญาเด่น และมีพวกจิตใจกล้าหาญเป็นทหาร และมีพวกลุ่มหลงในกิเลส
เป็นคนงาน

นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยกลาง
หมายถึง นักปรัชญาการเมืองสมัยยุโรปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาคริสต์ ดังนั้น ความรู้สึกต่อรัฐของนักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยกลางจึงเป็นไปในทางลบ และมองเห็นว่ารัฐเป็นความชั่วร้าย ศาสนจักรจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่ารัฐและควรเป็นฝ่ายควบคุมรัฐ ตัวอย่างของนักปรัชญาการเมืองสมัยกลาง คือ เซนต์ ออกัสติน อย่างไรก็ตาม หลังจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของยุโรป ความคิดเรื่องปัจเจกบุคคลและสิทธิของบุคคลเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แนวโน้มทางความคิดดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปสู่ความคิดที่ว่า รัฐต้องเป็นสิ่งที่เป็นอิสระจากการควบคุมหรือพ้นจากอิทธิพลของอำนาจภายนอก เช่น ศาสจักร ตัวอย่างเช่น ความคิดของมาเคียเวลลี่ เป็นต้น

นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยใหม่
หมายถึงว่า นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยใหม่ มีแนวโน้มที่มองเห็นความจำเป็นของรัฐ ถึงแม้ว่ารัฐจะไม่ใช่สถาบันธรรมชาติของมนุษย์ แต่รัฐนั้นมีอำนาจจำกัดลง เพราะกำเนิดของรัฐเกิดจากข้อตกลงของราษฎร์ หรือปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นอิสระตามสภาพธรรมชาติ หรือมีสิทธิบางอย่างโดยธรรมชาติ เมื่อตกลงกันโอนอำนาจตามธรรมชาติของตนให้คนเพียงคนเดียวหรือคนกลุ่มหนึ่ง เมื่อนั้นรัฐหรือสังคมจึงเกิดขึ้น แต่การตกลงของราษฎร์เกิดขึ้นเพราะราษฎร์เห็นประโยชน์จากการมีรัฐที่สามารถรักษาสิทธิ์ที่ตนมีโดยธรรมชาติดีกว่าไม่มีรัฐ นั่นคือ นักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ยึดถือทฤษฎีสัญญาประชาคม ( Social Contract ) ดังนั้น ถ้ารัฐหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจไม่สนองตามความต้องการของราษฎร์หรือประชาชน ประชาชนมีสิทธิ์เรียกอำนาจคืนและโอนให้บุคคลอื่น ๆ ได้ ตัวอย่างของนักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยใหม่ คือ โธมัส ฮอบส์, จอห์น ล๊อค และรุสโซ

นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยปัจจุบัน
นักปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยปัจจุบันที่สำคัญ คือ เบ็นธัม ผู้ถือหลักประโยชน์นิยมว่าเป็นจุดหมายของจริยธรรมและสังคม กล่าวคือ ในแง่ของจริยธรรม ความประพฤติดี คือ ความประพฤติที่ก่อให้เกิดผล คือ ความสุขแก่คนหมู่มาก ดังนั้น จุดหมายของรัฐก็เช่นเดียวกัน ต้องก่อให้เกิดความสุขแก่คนส่วนใหญ่ กฎหมายต้องควบคุมให้เกิดผลประโยชน์ คือ ความสุขแก่คนส่วนใหญ่

ส่วนมิลล์ซึ่งเป็นนักประโยชน์นิยมอีกคนหนึ่งจะเน้นหนักในเรื่องเสรีภาพ ดังนั้น การกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบเฉพาะผู้กระทำเท่านั้นย่อมเป็นการกระทำที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ เช่น การแสวงหาสัจจะ

ส่วนนักคิดสำคัญผู้มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางของยุโรป คือ มาร์กซ์ ผู้มีความเห็นว่า รัฐเป็นสิ่งไม่จำเป็นสำหรับสังคมมนุษย์ เพราะรัฐกำเนิดขึ้นเนื่องจากโครงสร้างทางการผลิตที่เปิดโอกาสให้มีคนผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และคนกลุ่มนี้สร้างอำนาจขึ้นมากดขี่ขูดรีด และรักษาสถานภาพของตนไว้ ดังนั้น ถ้าเป็นสังคมที่มีวิธีการผลิตแบบไม่มีใครเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ความแตกต่างทางชนชั้นก็หายไป รัฐก็พลอยหายไปด้วย

นักปรัชญาการเมืองกลุ่มอนาธิปไตย
เป็นกลุ่มนักปรัชญาการเมืองที่มีทัศนะเชิงลบต่อรัฐโดยสิ้นเชิง พวกเขาชิงชังไม่ใช่แต่รัฐเท่านั้น แต่ชิงชังองค์กรหรือการจัดการทุกชนิดและทุกรูปแบบ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำลายความสำคัญของปัจเจกบุคคลทั้งสิ้น ดังนั้น สังคมควรเกิดจากความร่วมมือที่เกิดจากความรู้สึกของเพื่อน เกิดจากความเข้าใจ ไม่ใช่เกิดจากการถูกบังคับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามนุษย์ขจัดรัฐเสียได้ ความชั่วร้ายที่กำลังเกาะกินมนุษย์อยู่ทุกวันนี้ก็จะพลอยสลายไปด้วย ตัวอย่างของนักปรัชญากลุ่มนี้ คือ วิลเลี่ยม กอดวิน

บริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ

บริหารรัฐกิจ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ คือ อะไร จบมาทำงานอะไร

บริหารรัฐกิจ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์

คือ อะไร จบมาทำงานอะไร



โดย อ.ชัยวิชิต เจษฎาภัทรกุล (P’ชัย)

ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ (บริหารรัฐกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิงห์แดง รุ่นที่ 38

ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ (รัฐประศาสนศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สิงห์ดำ รุ่นที่ 23

NISIT Academy



บริหารรัฐกิจ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ ตรงกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Public Administration” ซึ่งเป็นสาขาวิชาหนึ่งในคณะรัฐศาสตร์ หรือ สังคมศาสตร์ของทุกสถาบัน เช่น คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วบริหารรัฐกิจ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ จะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารงานภาครัฐ หรือ ระบบราชการนั่นเอง รวมทั้งองค์กรของรัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ และองค์กรมหาชนต่างๆ โดยส่วนใหญ่มักเน้นเรื่องกรอบแนวความคิดด้านการบริหารองค์การและการจัดการ (Organization & Management) การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Management) การบริหารงานคลังและงบประมาณ (Fiscal Administration & Budgeting) การบัญชีรัฐบาล (Government Accounting) การวางแผนบริหาร (Administrative Planning) กฎหมายมหาชน (Public Laws) ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานภาครัฐ (Public Information System) นโยบายสาธารณะ (Public Policy) การบริหารงานตำรวจ (Police Administration) และจิตวิทยาองค์การ (Organizational Psychology)

คุณสมบัติของผู้สนใจที่จะศึกษาต่อสาขาวิชาบริหารรัฐกิจ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์

1. ควรมีพื้นฐานความรู้และชอบศึกษาในกลุ่มสาระฯ วิชาสังคมศึกษา โดยเฉพาะสาระการเรียนรู้ด้านหน้าที่พลเมือง และกฎหมาย หรือ ความรู้ทั่วไปทางรัฐศาสตร์ นั่นเอง

2. สนใจและติดตามข่าวสารบ้านเมืองโดยเฉพาะข่าวการเมือง ข่าวเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ข่าวเศรษฐกิจการเมือง และนโยบายของรัฐบาล โดยสามารถวิเคราะห์วิจารณ์เหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างเป็นระบบและมีเหตุผล

3. ชอบและสนใจวิชาด้านการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ (Bureaucracy) เพื่อการพัฒนาประเทศ (Development Administration) โดยเฉพาะองค์กรที่มิได้มุ่งแสวงหากำไร (Non-Profit Organization) แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิชานี้สามารถนำความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือด้านการบริหารไปปรับใช้ในองค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไรได้เช่นกัน

4. ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้สหวิทยาการ เนื่องจากสาขาวิชานี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสาขาวิชาอื่นๆ มากมาย เช่น เศรษฐศาสตร์การเงิน-การคลัง การบัญชี การบริหารและการจัดการ กฎหมายปกครอง การพัฒนาสังคม การสื่อสารองค์กร จิตวิทยา และรัฐศาสตร์สาขาอื่นๆ

5. ควรมีความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สถิติ และภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ดี

6. ต้องมีอุดมการณ์ที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน โดยไม่ใช้กลไกของระบบราชการมากอบโกยผลประโยชน์เข้าพวกพ้อง และเข้าใจดีถึงทฤษฎีการพัฒนาประเทศ ความเสมอภาค และความยุติธรรมทางสังคม

แหล่งงานสำหรับบัณฑิตสาขาวิชาบริหารรัฐกิจ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์

1. แหล่งงานภาครัฐ บัณฑิตสาขาวิชานี้สามารถทำงานด้านบริหาร นโยบาย และแผนงานได้ทุกหน่วยราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม กอง เช่น ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน เจ้าหน้าที่ประสานงาน เจ้าหน้าที่บริหารงานบุคคล เลขานุการบริหาร นักวิชาการศึกษา ฯลฯ สำหรับผู้ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาต่างประเทศดีก็สามารถทำงานเป็นเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ หรือ นักการทูตได้ สำหรับในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรมหาชนก็มีตำแหน่งคล้ายคลึงกับหน่วยงานราชการ

2. แหล่งงานภาคเอกชน ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า บัณฑิตสาขาวิชานี้ได้เรียนรู้ความรู้ และเครื่องมือทางการบริหารงานมากกว่าสาขาอื่นๆ ของวิชารัฐศาสตร์จึงทำให้บัณฑิตสามารถนำความรู้เทคนิคด้านการบริหารจัดการไปใช้ในการทำงานภาคเอกชนได้ดีในการบริหารงานทุกระดับของบริษัท โดยเฉพาะบัณฑิตที่มีความรู้การคำนวณ และภาษาดี ขอบข่ายงานก็ยิ่งจะกว้างขวางมากขึ้น เช่น นักวิเคราะห์โครงการ นักวิเคราะห์การลงทุน นักวิเคราะห์ระบบงาน นักบริหารองค์การระดับสูงที่สามารถวิเคราะห์การบริหารเศรษฐกิจมหภาคได้

การศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา

บัณฑิตสาขาวิชาบริหารรัฐกิจ หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาโท หรือ เอก ในกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ได้เกือบทุกสาขา เช่น บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ปรัชญา ภาษาศาสตร์ จิตวิทยา นิเทศศาสตร์ ครุศาสตร์ และ รัฐศาสตร์ ทุกสาขาวิชาเอก เป็นต้น

รัฐศาสตร์

บางคนอาจจะตอบว่า "อยากเป็นปลัดอำเภอ" "อยากเป็นนักการทูต" "อยากเป็นนายร้อยตำรวจ" "อยากเป็นข้าราชการ" "อยากเป็นนักการเมือง" "อยากเปิดร้านกาแฟ" (อันนี้ผมเอามาจากนางแบบนิตยสาร Maxim คนนึงที่เรียนรัฐศาสตร์ที่รามฯ) หรือบางคนอาจจะตอบว่า "ไม่รู้ดิ.. เห็นเค้าว่าจบง่ายดีมั้ง...."



แล้วเอาเข้าจริงๆ ไอ้วิชารัฐศาสตร์เนี่ย มันคืออะไรกันแน่? และมีไว้ให้เราๆท่านๆเรียนไปเพื่ออะไร?



เพื่อตอบคำถามข้างบน ผมจะขออธิบายความหมาย และขอบข่ายกว้างๆของวิชารัฐศาสตร์ให้พอเห็นภาพกว้างๆนะครับ







"รัฐศาสตร์" (Political Science) เป็นการศึกษากระบวนการแบ่งปันและถ่ายโอนอำนาจในกระบวนการตัดสินใจ เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆ การศึกษาด้านรัฐศาสตร์นั้นถูกจัดว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวและสถาบันที่เป็นสาธารณะ สาขาวิชานี้มักถูกแบ่งเป็นหลายด้าน

รัฐศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง กระบวนการทางการเมือง สถาบันทางการเมือง รวมถึงปรากฏการณ์ต่างๆทางการเมือง การศึกษารัฐศาสตร์เป็นการศึกษาในลักษณะของสหวิทยาการ โดยอาศัยองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาอี่นมาช่วยในการอธิบายหรือประกอบในการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้น




สาขาวิชาที่สำคัญของรัฐศาสตร์

ในประเทศไทย การศึกษารัฐศาสตร์มักแบ่งออกเป็น สาขาวิชาหลักๆได้สามสาขา ดังนี้


การปกครอง (Government)
เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาในเรื่องของหลักวิชาในการเมือง การปกครอง ความคิดทางการเมือง ระบบการเมือง ระบบการปกครอง ปรัชญาการเมือง รัฐธรรมนูญ และอื่นๆ โดยมีจุดมุ่งเน้นที่ การบูรณาการองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม สาขาการปกครองนั้นถือว่าเป็น "สาขาหลัก" ที่เป็นพื้นฐาน และเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของรัฐศาสตร์ เราจะไม่สามารถเข้าถึงแก่นของรัฐศาสตร์สาขาอื่นๆได้เลยหากปราศจากความเข้าใจในหลักการของสาขาการปกครองให้ถ่องแท้เสียก่อน เพราะสาขาการปกครองจะเน้นพัฒนาตัวผู้เรียนให้มีวิจารณญาณที่เฉียบคม ให้ความรู้ความเข้าใจในหลักทางรัฐศาสตร์แก่ผู้เรียนครบถ้วน ดังนั้นจึงถือได้ว่ารัฐศาสตร์สาขานี้เป็นสาขาที่เตรียมผู้เรียนให้พร้อมเข้าสู่งานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะต่างๆได้อย่างดีเยี่ยมที่สุด


ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International relations)
เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในระบบระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มศึกษาจากทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พัฒนาการของระบบระหว่างประเทศ นโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง การทูตและการต่างประเทศ และอื่นๆ โดยสาขานี้ค่อนข้างจะใกล้ชิดกับสาขาการปกครองค่อนข้างมาก จะแตกต่างก็เพียงแต่จะเน้นศึกษาประเด็นที่กว้างขวางในระดับโลกหรือระดับภูมิภาค ซึ่งในยุคโลกาภิวัตน์นี้ ทุกประเทศในโลก ต่างก็มีความเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ที่ต้องการความรู้ในด้านนี้นั้นจึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่นักการทูตหรือนักการทหารเท่านั้น แต่บริษัทห้างร้านหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ต้องการผู้มีความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อเสริมศักยภาพขององค์กรในกระแสโลกาภิวัตน์


รัฐประศาสนศาสตร์/บริหารรัฐกิจ (Public administration)
เป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นในการบริหารกิจการต่างๆอันเป็นของรัฐ หรือการบริหารงานภาครัฐ โดยตัววิชาคือการศึกษารัฐศาสตร์ในแบบ "จุลภาค" ในเชิง "เทคนิค" และสหวิทยาการ สาขาวิชานี้ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนของการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ และเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมจากผู้สนใจศึกษารัฐศาสตร์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในระดับปริญญาโทสำหรับผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับราชการ ผู้วิเคราะห์นโยบาย หรือ นักพัฒนาเอกชน (NGO) จำนวนมากต่างก็ต้องการเรียนสาขานี้เพื่อประยุกต์ใช้ในงานที่เกี่ยวกับสาธารณะเพื่อพัฒนางานของตนเอง



ขอบเขตของการศึกษา
วิชารัฐศาสตร์มีขอบเขตกว้าง เป็นวิชาที่ศึกษารัฐเป็นศูนย์กลาง ศึกษาตั้งแต่ต้นกำเนิดของรัฐ พัฒนาการของรัฐ ความหมายของรัฐ การวิเคราห์ความแตกต่างของแต่ละรัฐ โครงสร้างรัฐบาล ระบบกฎหมาย ระบบการเมือง การกำหนดดำเนินนโยบาย และการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น



เราสามารถแบ่งสาขาวิชาย่อยของรัฐศาสตร์อย่างคร่าวๆดังนี้

ปรัชญา/ทฤษฎีการเมือง (Political philosophy/theory)
การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative politics)
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International relations)
เศรษฐกิจการเมือง (Political economy)
รัฐประศาสนศาสตร์/บริหารรัฐกิจ (Public administration)



เมื่อเห็นภาพกว้างๆของรัฐศาสตร์แล้ว ผมจะขออธิบายเกี่ยวกับประวัติการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในประเทศไทยคร่าวๆดังนี้ครับ


ประวัติการศึกษารัฐศาสตร์ในประเทศไทยนั้น ย้อนไปได้ถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการสอนวิชาว่าด้วยการปกครองที่สอนกันในประเทศไทย เรียกว่า "รัฐประศาสนศาสตร์(บริหารรัฐกิจ)" ครับ ซึ่งเน้นฝึกฝนลูกหลานชนชั้นสูงไปรับราชการในหัวเมืองต่างๆ โดยวิชาที่เรียนก็มีเพียงวิชากฎหมายที่เกี่ยวกับราชการ วิชาเสมียน และวิชาหลัก คือการลงภาคสนามฝึกเป็นผู้ช่วยข้าราชการในต่างจังหวัดเป็นเวลา 1 ปี สถาบันที่สอนมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น โรงเรียนข้าราชการพลเรือน แต่ต่อมาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่าแผนกรัฐประศาสนศาสตร์(ต่อมาเรียกว่าแผนกการปกครอง) เน้นผลิตคนเข้าทำงานมหาดไทย การเรียนการสอนก็ไม่เปลี่ยนไปจากอดีตนัก


จนกระทั่งต่อมาอุดมศึกษาของไทยเริ่มเจริญขึ้น จึงเกิดมีการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ตามอย่าง "สากล" ที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายศึกษากัน คือเป็นศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทาง "การเมือง" ทั้งหลาย ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อช่วงไม่กี่ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในชื่อ "แผนกรัฐศาสตร์ศึกษา" ที่แยกต่างหากจาก "แผนกการปกครอง" โดยแผนกรัฐศาสตร์ศึกษาไม่ได้เน้นแต่การฝึกคนไปเป็นปลัดมหาดไทยและให้เรียนเพียงวิชาเชิงปฏิบัติแคบๆ แต่จะเน้นพัฒนาความคิด และความเข้าใจในสังคมการเมือง เพื่อนำเอาความรู้ดังกล่าวไปใช้ได้ทั่วไป วิชาที่เรียนก็จะเป็นวิชาที่เมืองไทยในอดีตไม่เคยมีการเรียนการสอนกันมาก่อน เช่น ปรัชญา/ทฤษฎีการเมือง และ การเมืองเปรียบเทียบ เป็นต้น


ต่อมา "แผนกรัฐศาสตร์ศึกษา" ได้ถูกยุบไปรวมกับ "แผนกการปกครอง(แบบที่เน้นกฎหมายและวิชาเสมียน)" จนกลายเป็น "ภาควิชาการปกครอง" ที่มีการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ในแบบที่ทุกประเทศทั่วโลกทำกัน คือ เน้นพัฒนาความคิดของผู้เรียน(แบบเศรษฐศาสตร์,สังคมวิทยา,ประวัติศาสตร์ ฯลฯ) เพื่อไปเป็นบุคลากรในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ "ส่วนรวม" ได้ดี ซึ่งก็คือสภาพของ "ภาควิชาการปกครอง" แบบที่สอนกันอยุ่ในทุกมหาวิทยาลัยของไทยในทุกวันนี้ และอาจรวมไปถึงการศึกษาในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันด้วยก็ได้ เพราะได้มีการเน้นทฤษฎีมากขึ้นกว่าในอดีตมาก


ส่วนการศึกษาแบบที่เน้นความรู้ในเชิงเทคนิคบริหารราชการ(คล้ายคลึงกับแผนกการปกครองในสมัยก่อน เพียงแต่เน้นความรู้ด้านบริหารของอเมริกันแทนกฏหมายราชการ) ก็กลายเป็น "ภาควิชาบริหารรัฐกิจ/รปศ" ในทุกวันนี้นั่นเอง โดยจะเน้นในเรื่องของการวิเคราะห์นโยบายเพิ่มเติมขึ้นมา






สำหรับในประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายนั้น มีจุดที่แตกต่างจากการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ในประเทศไทยอย่างชัดเจน คือ เขาจะไม่เน้น หรือบางที่นั้นอาจจะไม่มีการสอนเกี่ยวกับ "การบริหาร" ในระดับปริญญาตรีเอาเลย เพราะเขาถือว่าการศึกษาของระดับปริญญาตรีนั้นเป็นของผู้ที่ยังมิได้เข้าสู่โลกของการทำงานจริง ดังนั้นจึงเน้นความรู้ความเข้าใจใน "ศาสตร์และศิลป์" หรือ "รู้รอบ" มากกว่าจะเน้น "ความรู้เทคนิค" ดังนั้นก็ขอจงอย่าได้แปลกใจถ้าหากไปลองเสิร์ชอินเทอร์เน็ตหามหาวิทยาลัยที่สอนสาขาบริหารรัฐกิจระดับปริญญาตรีในอเมริกาไม่เจอเอาเลย เพราะในอเมริกานั้นเขาคิดว่ามันไม่มีประโยชน์เท่าใดนักสำหรับการสอนหลักการบริหารให้แก่ผู้ที่เพิ่งผ่านชั้นมัธยมปลายมา และยังไม่มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรใดๆมาก่อน
แต่การศึกษาด้านการบริหารรัฐกิจ/ธุรกิจ ในประเทศพัฒนาแล้วเขาจะสอนกันในระดับปริญญาโทกันครับ เป็น M.P.A. หรือ M.B.A. ซึ่งเขามักจะนิยมเรียนหลังจากผ่านการทำงานในองค์การมาแล้วอย่างต่ำ 2-8 ปี และมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกสำหรับคนที่ต้องการจะเป็นอาจารย์




แต่ถ้าหากเราพิจารณาภาพของ"วิชารัฐศาสตร์"ในทัศนะของคนไทยส่วนใหญ่ ทั้งที่เรียนรัฐศาสตร์ และไม่ได้เรียน มักจะพบว่าส่วนใหญ่มักจะมองวิชานี้เป็นวิชา "พญาเหยี่ยว พญาแร้ง" "สิงห์จ้าวป่า" หรือมองว่าเรียนเพื่อที่จะไป"ปกครอง" ใช้อำนาจไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งเป็นการมองแบบ"บนลงล่าง" และไม่ได้มีมิติของความเป็นวิชาการที่ใช้ความรู้ความสามารถในการทำความเข้าใจสังคมการเมือง และมีทัศนะที่จะมองผู้อื่นอย่างเท่าเทียม ซึ่งค่อนข้างจะสวนทางกับสถานะของตัววิชาในบริบทที่เป็นสากลอย่างดำเป็นขาวเลยทีเดียวครับ




เพราะโดยตัววิชารัฐศาสตร์นั้น หากมองจากองค์ความรู้สาขานี้ที่เป็นสากลพร้อมทั้งพิจารณาให้ถ่องแท้ จะพบว่า แก่นสารของวิชานี้คือการออกแบบ(design)สถาบันทางการเมืองเพื่อสร้างชุมชนทางการเมืองที่ดี (ตั้งแต่ระดับย่อยในชุมชน ในหน่วยราชการ ไปจนถึงระดับรัฐธรรมนูญ หรือระบบระหว่างประเทศ) และการปฏิบัติการทางการเมืองที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในวิชารัฐศาสตร์ ไม่ใช่การคิดระบบการเมืองที่ดีเลิศ แล้วใช้ได้กับทุกสังคม หากแต่คือปฏิบัติการปรัชญาการเมืองของโสกราตีสผู้ซึ่งไม่เคยเสนออะไร แต่ใช้วิธีมีบทสนทนา(dialogue) กับคนในชุมชนการเมือง



ดังนั้นผมจึงต้องแปลกใจ ระคนหดหู่ใจว่า คนเรียนรัฐศาสตร์จำนวนมากคิดว่าวิชารัฐศาสตร์คือการนั่งดูนักการเมืองด่ากันในสภา ตอแหลหน้าจอทีวี หรืออ่านหนังสือพิมพ์หน้าการเมืองทุกวัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักคิดทฤษฎีอะไรทั้งนั้น ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว อาแปะร้านน้ำชาแถวๆบ้านผมก็ทำได้ และอาจจะทำได้ดีกว่านักศึกษารัฐศาสตร์หลายๆคนเสียด้วยซ้ำไปครับ เพราะแกอ่านหนังสือพิมพ์มาตั้ง 30-40 ปีแล้ว นักศีกษาจำนวนมากแทบจะไม่เคยนำเอาหลักการทางรัฐศาสตร์ไปเปิดมุมมองทางสังคมการเมืองรอบๆตัวพวกเขาให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิมเลย



และที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ คนเรียนรัฐศาสตร์(หรือสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆ)จำนวนมาก ไม่เคยใส่ใจสังคม ไม่เคยมองชีวิตของคนเล็กคนน้อยรอบๆตัวเค้าเลย ไม่เคยตั้งคำถามกับสังคม ไม่เคยเอะใจว่าทำไมรถเมล์ที่เขานั่งมาเรียนที่มหาวิทยาลัยอยู่ทุกวันๆ ไฉนมันถึงเก่าซอมซ่อ เหม็นควัน ฝุ่นตลบ... ในขณะที่มีคนส่วนน้อยบางส่วนในสังคมของเรา กลับได้นั่งรถหรู โรว์สลอยซ์ เฟอรารี่ ฯลฯ หรือไม่เคยเกิดความสงสัยเลยแม้แต่น้อย ว่าทำไมในบางประเทศที่ฐานะความเจริญไม่ได้ต่างกับเรามากนัก แต่เขากลับมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมกว่า มีสาธารณูประโภคที่ดีกว่า? อย่างเช่นรถเมล์ในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ดีกว่ารถเมล์ที่ผ่านหน้ารามคำแหง ไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า?


ซึ่งการตระหนักรู้ในประเด็นที่มีลักษณะอย่างที่ผมยกมาข้างต้น หรือการตั้งคำถามต่อประเด็นทางสังคมรอบๆตัวเรา การมองสังคมอย่างคนช่างสังเกต และสามารถมองเห็นประเด็นที่หลายๆคนที่ไม่ได้ศึกษาสังคมศาสตร์มองไม่เห็น นี่แหละครับคือ "ทักษะทางวิชาการ" ที่นักรัฐศาสตร์ทุกๆคนควรจะมี และควรจะได้จากการศึกษารัฐศาสตร์...



ครับ... ผมกำลังจะบอกว่า "การเมือง" มันหายไปจาก "วิชารัฐศาสตร์ไทย" จนเกือบจะหมดสิ้นไปแล้วนั่นเอง



ที่มีหลงเหลืออยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ก็คือวิชานี้ คือวิชาพญายักษ์, พญาสิงห์, วิชาที่เรียนง่ายจบง่าย (สำหรับบางหลักสูตรที่ขายปริญญากันใหญ่โต), วิชาที่มีข้อสอบปรนัยเยอะเท่านั้นเอง...



และจากสภาพการเรียนการสอน หลักสูตร และทัศนะของผู้ที่เลือกที่จะเข้ามาศึกษาในศาสตร์นี้ในปัจจุบันนั้น ผู้สอน ผู้เกี่ยวข้องกับวงวิชาการรัฐศาสตร์ทั้งหมด รวมทั้งผู้เรียน คงจะต้องถามตัวเองดังๆกันได้แล้วว่า การเรียนการสอนรัฐศาสตร์ในประเทศไทย ที่ดำเนินมานานปี มีบัณฑิตออกไปสู่ตลาดแรงงานจำนวนมหาศาล (น่าจะถึงแสนคนแล้ว) แต่คุณประโยชน์ที่ได้กลับมาสู่สังคม สู่ตัวผู้เรียน ต่อวงวิชาการ มีอยู่สักเท่าใด?


ซึ่งเมื่อประเมินจากสภาพการเมืองไทยที่เป็นอยู่ จากความกล้าหาญทางจริยธรรมของนักวิชาการรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และจากระดับการตื่นตัวในประเด็นทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ ที่มีระดับต่ำจนน่าใจหายในปัจจุบันนี้...


ผมคิดว่าคงไม่ต้องถามกันอีกแล้ว ว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง




นอกจากนี้สิงห์ทองหลายๆคนอาจจะไม่เคยรู้ด้วยซ้ำ ว่าเดิมทีนั้นสาขาวิชารัฐศาสตร์ ของรามคำแหง เคยรวมอยู่ในคณะนิติศาสตร์ และมีฐานะเพียงภาควิชาหนึ่งเท่านั้น ..แต่ภายหลัง 14 ตุลา กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นสูงมาก จึงเกิดการเรียกร้องให้ตั้งเป็นคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งก็เช่นเดียวกับที่เกิดกระแสเรียกร้องในช่วงเวลาเดียวกันให้มีการเปิดการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ และริเริ่มก่อตั้งภาควิชารัฐศาสตร์ ในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยจุดประสงค์และบริบทที่เกี่ยวพันกับประชาธิปไตย เช่นเดียวกันกับคณะรัฐศาสตร์ ที่รามคำแหง ดังนั้น จากที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น จะเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว "การเมือง" และ "ประชาธิปไตย" นั้น นับว่าเป็นองค์ประกอบหลักที่จะขาดเสียไม่ได้ ของความเป็นคณะรัฐศาสตร์ และการศึกษารัฐศาสตร์ในประเทศไทยเลยทีเดียวครับ


ดังนั้น สำหรับนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะโดยที่พวกเขารู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ แต่ในความเป็นจริงที่พวกเราควรจะระลึกไว้อยู่เสมอก็คือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่พวกเขาอาศัยเล่าเรียนอยู่นี้ เป็นผลิตผลโดยตรงจากเหตุการณ์ 14 ตุลา อันเป็นชัยชนะของการลุกฮือขึ้นต่อสู้ของมวลชน ที่มีต่อเผด็จการทหารครับ (ความจริงผมเคยพบกับคนที่เรียนรัฐศาสตร์ ปี4แล้ว แต่กลับไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเหตุการณ์14ตุลา คืออะไร โอ้แม่เจ้า!!!)



แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนวิชารัฐศาสตร์เองว่าอยากจะ"ได้อะไร"จากการเรียนในการเรียนระดับปริญญาตรี และอยากจะ"ค้นหาอะไร"ในองค์ความรู้แขนงหนึ่งในโลกนี้ ที่ศึกษากันมาหลายพันปี ที่เรียกว่า"รัฐศาสตร์" ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีจุดประสงค์และมรรควิธีที่เกี่ยวพันกับ "ส่วนรวม" และ "การเปลี่ยนแปลงสังคม" อย่างชัดเจนที่สุด