วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

รัฐศาสตร์

บางคนอาจจะตอบว่า "อยากเป็นปลัดอำเภอ" "อยากเป็นนักการทูต" "อยากเป็นนายร้อยตำรวจ" "อยากเป็นข้าราชการ" "อยากเป็นนักการเมือง" "อยากเปิดร้านกาแฟ" (อันนี้ผมเอามาจากนางแบบนิตยสาร Maxim คนนึงที่เรียนรัฐศาสตร์ที่รามฯ) หรือบางคนอาจจะตอบว่า "ไม่รู้ดิ.. เห็นเค้าว่าจบง่ายดีมั้ง...."



แล้วเอาเข้าจริงๆ ไอ้วิชารัฐศาสตร์เนี่ย มันคืออะไรกันแน่? และมีไว้ให้เราๆท่านๆเรียนไปเพื่ออะไร?



เพื่อตอบคำถามข้างบน ผมจะขออธิบายความหมาย และขอบข่ายกว้างๆของวิชารัฐศาสตร์ให้พอเห็นภาพกว้างๆนะครับ







"รัฐศาสตร์" (Political Science) เป็นการศึกษากระบวนการแบ่งปันและถ่ายโอนอำนาจในกระบวนการตัดสินใจ เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆ การศึกษาด้านรัฐศาสตร์นั้นถูกจัดว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวและสถาบันที่เป็นสาธารณะ สาขาวิชานี้มักถูกแบ่งเป็นหลายด้าน

รัฐศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง กระบวนการทางการเมือง สถาบันทางการเมือง รวมถึงปรากฏการณ์ต่างๆทางการเมือง การศึกษารัฐศาสตร์เป็นการศึกษาในลักษณะของสหวิทยาการ โดยอาศัยองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาอี่นมาช่วยในการอธิบายหรือประกอบในการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้น




สาขาวิชาที่สำคัญของรัฐศาสตร์

ในประเทศไทย การศึกษารัฐศาสตร์มักแบ่งออกเป็น สาขาวิชาหลักๆได้สามสาขา ดังนี้


การปกครอง (Government)
เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาในเรื่องของหลักวิชาในการเมือง การปกครอง ความคิดทางการเมือง ระบบการเมือง ระบบการปกครอง ปรัชญาการเมือง รัฐธรรมนูญ และอื่นๆ โดยมีจุดมุ่งเน้นที่ การบูรณาการองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม สาขาการปกครองนั้นถือว่าเป็น "สาขาหลัก" ที่เป็นพื้นฐาน และเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของรัฐศาสตร์ เราจะไม่สามารถเข้าถึงแก่นของรัฐศาสตร์สาขาอื่นๆได้เลยหากปราศจากความเข้าใจในหลักการของสาขาการปกครองให้ถ่องแท้เสียก่อน เพราะสาขาการปกครองจะเน้นพัฒนาตัวผู้เรียนให้มีวิจารณญาณที่เฉียบคม ให้ความรู้ความเข้าใจในหลักทางรัฐศาสตร์แก่ผู้เรียนครบถ้วน ดังนั้นจึงถือได้ว่ารัฐศาสตร์สาขานี้เป็นสาขาที่เตรียมผู้เรียนให้พร้อมเข้าสู่งานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะต่างๆได้อย่างดีเยี่ยมที่สุด


ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International relations)
เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในระบบระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มศึกษาจากทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พัฒนาการของระบบระหว่างประเทศ นโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง การทูตและการต่างประเทศ และอื่นๆ โดยสาขานี้ค่อนข้างจะใกล้ชิดกับสาขาการปกครองค่อนข้างมาก จะแตกต่างก็เพียงแต่จะเน้นศึกษาประเด็นที่กว้างขวางในระดับโลกหรือระดับภูมิภาค ซึ่งในยุคโลกาภิวัตน์นี้ ทุกประเทศในโลก ต่างก็มีความเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ที่ต้องการความรู้ในด้านนี้นั้นจึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่นักการทูตหรือนักการทหารเท่านั้น แต่บริษัทห้างร้านหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ต้องการผู้มีความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อเสริมศักยภาพขององค์กรในกระแสโลกาภิวัตน์


รัฐประศาสนศาสตร์/บริหารรัฐกิจ (Public administration)
เป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นในการบริหารกิจการต่างๆอันเป็นของรัฐ หรือการบริหารงานภาครัฐ โดยตัววิชาคือการศึกษารัฐศาสตร์ในแบบ "จุลภาค" ในเชิง "เทคนิค" และสหวิทยาการ สาขาวิชานี้ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนของการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ และเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมจากผู้สนใจศึกษารัฐศาสตร์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในระดับปริญญาโทสำหรับผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับราชการ ผู้วิเคราะห์นโยบาย หรือ นักพัฒนาเอกชน (NGO) จำนวนมากต่างก็ต้องการเรียนสาขานี้เพื่อประยุกต์ใช้ในงานที่เกี่ยวกับสาธารณะเพื่อพัฒนางานของตนเอง



ขอบเขตของการศึกษา
วิชารัฐศาสตร์มีขอบเขตกว้าง เป็นวิชาที่ศึกษารัฐเป็นศูนย์กลาง ศึกษาตั้งแต่ต้นกำเนิดของรัฐ พัฒนาการของรัฐ ความหมายของรัฐ การวิเคราห์ความแตกต่างของแต่ละรัฐ โครงสร้างรัฐบาล ระบบกฎหมาย ระบบการเมือง การกำหนดดำเนินนโยบาย และการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น



เราสามารถแบ่งสาขาวิชาย่อยของรัฐศาสตร์อย่างคร่าวๆดังนี้

ปรัชญา/ทฤษฎีการเมือง (Political philosophy/theory)
การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative politics)
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International relations)
เศรษฐกิจการเมือง (Political economy)
รัฐประศาสนศาสตร์/บริหารรัฐกิจ (Public administration)



เมื่อเห็นภาพกว้างๆของรัฐศาสตร์แล้ว ผมจะขออธิบายเกี่ยวกับประวัติการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในประเทศไทยคร่าวๆดังนี้ครับ


ประวัติการศึกษารัฐศาสตร์ในประเทศไทยนั้น ย้อนไปได้ถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการสอนวิชาว่าด้วยการปกครองที่สอนกันในประเทศไทย เรียกว่า "รัฐประศาสนศาสตร์(บริหารรัฐกิจ)" ครับ ซึ่งเน้นฝึกฝนลูกหลานชนชั้นสูงไปรับราชการในหัวเมืองต่างๆ โดยวิชาที่เรียนก็มีเพียงวิชากฎหมายที่เกี่ยวกับราชการ วิชาเสมียน และวิชาหลัก คือการลงภาคสนามฝึกเป็นผู้ช่วยข้าราชการในต่างจังหวัดเป็นเวลา 1 ปี สถาบันที่สอนมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น โรงเรียนข้าราชการพลเรือน แต่ต่อมาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่าแผนกรัฐประศาสนศาสตร์(ต่อมาเรียกว่าแผนกการปกครอง) เน้นผลิตคนเข้าทำงานมหาดไทย การเรียนการสอนก็ไม่เปลี่ยนไปจากอดีตนัก


จนกระทั่งต่อมาอุดมศึกษาของไทยเริ่มเจริญขึ้น จึงเกิดมีการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ตามอย่าง "สากล" ที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายศึกษากัน คือเป็นศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทาง "การเมือง" ทั้งหลาย ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อช่วงไม่กี่ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในชื่อ "แผนกรัฐศาสตร์ศึกษา" ที่แยกต่างหากจาก "แผนกการปกครอง" โดยแผนกรัฐศาสตร์ศึกษาไม่ได้เน้นแต่การฝึกคนไปเป็นปลัดมหาดไทยและให้เรียนเพียงวิชาเชิงปฏิบัติแคบๆ แต่จะเน้นพัฒนาความคิด และความเข้าใจในสังคมการเมือง เพื่อนำเอาความรู้ดังกล่าวไปใช้ได้ทั่วไป วิชาที่เรียนก็จะเป็นวิชาที่เมืองไทยในอดีตไม่เคยมีการเรียนการสอนกันมาก่อน เช่น ปรัชญา/ทฤษฎีการเมือง และ การเมืองเปรียบเทียบ เป็นต้น


ต่อมา "แผนกรัฐศาสตร์ศึกษา" ได้ถูกยุบไปรวมกับ "แผนกการปกครอง(แบบที่เน้นกฎหมายและวิชาเสมียน)" จนกลายเป็น "ภาควิชาการปกครอง" ที่มีการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ในแบบที่ทุกประเทศทั่วโลกทำกัน คือ เน้นพัฒนาความคิดของผู้เรียน(แบบเศรษฐศาสตร์,สังคมวิทยา,ประวัติศาสตร์ ฯลฯ) เพื่อไปเป็นบุคลากรในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ "ส่วนรวม" ได้ดี ซึ่งก็คือสภาพของ "ภาควิชาการปกครอง" แบบที่สอนกันอยุ่ในทุกมหาวิทยาลัยของไทยในทุกวันนี้ และอาจรวมไปถึงการศึกษาในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันด้วยก็ได้ เพราะได้มีการเน้นทฤษฎีมากขึ้นกว่าในอดีตมาก


ส่วนการศึกษาแบบที่เน้นความรู้ในเชิงเทคนิคบริหารราชการ(คล้ายคลึงกับแผนกการปกครองในสมัยก่อน เพียงแต่เน้นความรู้ด้านบริหารของอเมริกันแทนกฏหมายราชการ) ก็กลายเป็น "ภาควิชาบริหารรัฐกิจ/รปศ" ในทุกวันนี้นั่นเอง โดยจะเน้นในเรื่องของการวิเคราะห์นโยบายเพิ่มเติมขึ้นมา






สำหรับในประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายนั้น มีจุดที่แตกต่างจากการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ในประเทศไทยอย่างชัดเจน คือ เขาจะไม่เน้น หรือบางที่นั้นอาจจะไม่มีการสอนเกี่ยวกับ "การบริหาร" ในระดับปริญญาตรีเอาเลย เพราะเขาถือว่าการศึกษาของระดับปริญญาตรีนั้นเป็นของผู้ที่ยังมิได้เข้าสู่โลกของการทำงานจริง ดังนั้นจึงเน้นความรู้ความเข้าใจใน "ศาสตร์และศิลป์" หรือ "รู้รอบ" มากกว่าจะเน้น "ความรู้เทคนิค" ดังนั้นก็ขอจงอย่าได้แปลกใจถ้าหากไปลองเสิร์ชอินเทอร์เน็ตหามหาวิทยาลัยที่สอนสาขาบริหารรัฐกิจระดับปริญญาตรีในอเมริกาไม่เจอเอาเลย เพราะในอเมริกานั้นเขาคิดว่ามันไม่มีประโยชน์เท่าใดนักสำหรับการสอนหลักการบริหารให้แก่ผู้ที่เพิ่งผ่านชั้นมัธยมปลายมา และยังไม่มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรใดๆมาก่อน
แต่การศึกษาด้านการบริหารรัฐกิจ/ธุรกิจ ในประเทศพัฒนาแล้วเขาจะสอนกันในระดับปริญญาโทกันครับ เป็น M.P.A. หรือ M.B.A. ซึ่งเขามักจะนิยมเรียนหลังจากผ่านการทำงานในองค์การมาแล้วอย่างต่ำ 2-8 ปี และมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกสำหรับคนที่ต้องการจะเป็นอาจารย์




แต่ถ้าหากเราพิจารณาภาพของ"วิชารัฐศาสตร์"ในทัศนะของคนไทยส่วนใหญ่ ทั้งที่เรียนรัฐศาสตร์ และไม่ได้เรียน มักจะพบว่าส่วนใหญ่มักจะมองวิชานี้เป็นวิชา "พญาเหยี่ยว พญาแร้ง" "สิงห์จ้าวป่า" หรือมองว่าเรียนเพื่อที่จะไป"ปกครอง" ใช้อำนาจไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งเป็นการมองแบบ"บนลงล่าง" และไม่ได้มีมิติของความเป็นวิชาการที่ใช้ความรู้ความสามารถในการทำความเข้าใจสังคมการเมือง และมีทัศนะที่จะมองผู้อื่นอย่างเท่าเทียม ซึ่งค่อนข้างจะสวนทางกับสถานะของตัววิชาในบริบทที่เป็นสากลอย่างดำเป็นขาวเลยทีเดียวครับ




เพราะโดยตัววิชารัฐศาสตร์นั้น หากมองจากองค์ความรู้สาขานี้ที่เป็นสากลพร้อมทั้งพิจารณาให้ถ่องแท้ จะพบว่า แก่นสารของวิชานี้คือการออกแบบ(design)สถาบันทางการเมืองเพื่อสร้างชุมชนทางการเมืองที่ดี (ตั้งแต่ระดับย่อยในชุมชน ในหน่วยราชการ ไปจนถึงระดับรัฐธรรมนูญ หรือระบบระหว่างประเทศ) และการปฏิบัติการทางการเมืองที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในวิชารัฐศาสตร์ ไม่ใช่การคิดระบบการเมืองที่ดีเลิศ แล้วใช้ได้กับทุกสังคม หากแต่คือปฏิบัติการปรัชญาการเมืองของโสกราตีสผู้ซึ่งไม่เคยเสนออะไร แต่ใช้วิธีมีบทสนทนา(dialogue) กับคนในชุมชนการเมือง



ดังนั้นผมจึงต้องแปลกใจ ระคนหดหู่ใจว่า คนเรียนรัฐศาสตร์จำนวนมากคิดว่าวิชารัฐศาสตร์คือการนั่งดูนักการเมืองด่ากันในสภา ตอแหลหน้าจอทีวี หรืออ่านหนังสือพิมพ์หน้าการเมืองทุกวัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักคิดทฤษฎีอะไรทั้งนั้น ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว อาแปะร้านน้ำชาแถวๆบ้านผมก็ทำได้ และอาจจะทำได้ดีกว่านักศึกษารัฐศาสตร์หลายๆคนเสียด้วยซ้ำไปครับ เพราะแกอ่านหนังสือพิมพ์มาตั้ง 30-40 ปีแล้ว นักศีกษาจำนวนมากแทบจะไม่เคยนำเอาหลักการทางรัฐศาสตร์ไปเปิดมุมมองทางสังคมการเมืองรอบๆตัวพวกเขาให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิมเลย



และที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ คนเรียนรัฐศาสตร์(หรือสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆ)จำนวนมาก ไม่เคยใส่ใจสังคม ไม่เคยมองชีวิตของคนเล็กคนน้อยรอบๆตัวเค้าเลย ไม่เคยตั้งคำถามกับสังคม ไม่เคยเอะใจว่าทำไมรถเมล์ที่เขานั่งมาเรียนที่มหาวิทยาลัยอยู่ทุกวันๆ ไฉนมันถึงเก่าซอมซ่อ เหม็นควัน ฝุ่นตลบ... ในขณะที่มีคนส่วนน้อยบางส่วนในสังคมของเรา กลับได้นั่งรถหรู โรว์สลอยซ์ เฟอรารี่ ฯลฯ หรือไม่เคยเกิดความสงสัยเลยแม้แต่น้อย ว่าทำไมในบางประเทศที่ฐานะความเจริญไม่ได้ต่างกับเรามากนัก แต่เขากลับมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมกว่า มีสาธารณูประโภคที่ดีกว่า? อย่างเช่นรถเมล์ในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ดีกว่ารถเมล์ที่ผ่านหน้ารามคำแหง ไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า?


ซึ่งการตระหนักรู้ในประเด็นที่มีลักษณะอย่างที่ผมยกมาข้างต้น หรือการตั้งคำถามต่อประเด็นทางสังคมรอบๆตัวเรา การมองสังคมอย่างคนช่างสังเกต และสามารถมองเห็นประเด็นที่หลายๆคนที่ไม่ได้ศึกษาสังคมศาสตร์มองไม่เห็น นี่แหละครับคือ "ทักษะทางวิชาการ" ที่นักรัฐศาสตร์ทุกๆคนควรจะมี และควรจะได้จากการศึกษารัฐศาสตร์...



ครับ... ผมกำลังจะบอกว่า "การเมือง" มันหายไปจาก "วิชารัฐศาสตร์ไทย" จนเกือบจะหมดสิ้นไปแล้วนั่นเอง



ที่มีหลงเหลืออยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ก็คือวิชานี้ คือวิชาพญายักษ์, พญาสิงห์, วิชาที่เรียนง่ายจบง่าย (สำหรับบางหลักสูตรที่ขายปริญญากันใหญ่โต), วิชาที่มีข้อสอบปรนัยเยอะเท่านั้นเอง...



และจากสภาพการเรียนการสอน หลักสูตร และทัศนะของผู้ที่เลือกที่จะเข้ามาศึกษาในศาสตร์นี้ในปัจจุบันนั้น ผู้สอน ผู้เกี่ยวข้องกับวงวิชาการรัฐศาสตร์ทั้งหมด รวมทั้งผู้เรียน คงจะต้องถามตัวเองดังๆกันได้แล้วว่า การเรียนการสอนรัฐศาสตร์ในประเทศไทย ที่ดำเนินมานานปี มีบัณฑิตออกไปสู่ตลาดแรงงานจำนวนมหาศาล (น่าจะถึงแสนคนแล้ว) แต่คุณประโยชน์ที่ได้กลับมาสู่สังคม สู่ตัวผู้เรียน ต่อวงวิชาการ มีอยู่สักเท่าใด?


ซึ่งเมื่อประเมินจากสภาพการเมืองไทยที่เป็นอยู่ จากความกล้าหาญทางจริยธรรมของนักวิชาการรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และจากระดับการตื่นตัวในประเด็นทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ ที่มีระดับต่ำจนน่าใจหายในปัจจุบันนี้...


ผมคิดว่าคงไม่ต้องถามกันอีกแล้ว ว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง




นอกจากนี้สิงห์ทองหลายๆคนอาจจะไม่เคยรู้ด้วยซ้ำ ว่าเดิมทีนั้นสาขาวิชารัฐศาสตร์ ของรามคำแหง เคยรวมอยู่ในคณะนิติศาสตร์ และมีฐานะเพียงภาควิชาหนึ่งเท่านั้น ..แต่ภายหลัง 14 ตุลา กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นสูงมาก จึงเกิดการเรียกร้องให้ตั้งเป็นคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งก็เช่นเดียวกับที่เกิดกระแสเรียกร้องในช่วงเวลาเดียวกันให้มีการเปิดการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ และริเริ่มก่อตั้งภาควิชารัฐศาสตร์ ในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยจุดประสงค์และบริบทที่เกี่ยวพันกับประชาธิปไตย เช่นเดียวกันกับคณะรัฐศาสตร์ ที่รามคำแหง ดังนั้น จากที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น จะเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว "การเมือง" และ "ประชาธิปไตย" นั้น นับว่าเป็นองค์ประกอบหลักที่จะขาดเสียไม่ได้ ของความเป็นคณะรัฐศาสตร์ และการศึกษารัฐศาสตร์ในประเทศไทยเลยทีเดียวครับ


ดังนั้น สำหรับนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะโดยที่พวกเขารู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ แต่ในความเป็นจริงที่พวกเราควรจะระลึกไว้อยู่เสมอก็คือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่พวกเขาอาศัยเล่าเรียนอยู่นี้ เป็นผลิตผลโดยตรงจากเหตุการณ์ 14 ตุลา อันเป็นชัยชนะของการลุกฮือขึ้นต่อสู้ของมวลชน ที่มีต่อเผด็จการทหารครับ (ความจริงผมเคยพบกับคนที่เรียนรัฐศาสตร์ ปี4แล้ว แต่กลับไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเหตุการณ์14ตุลา คืออะไร โอ้แม่เจ้า!!!)



แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนวิชารัฐศาสตร์เองว่าอยากจะ"ได้อะไร"จากการเรียนในการเรียนระดับปริญญาตรี และอยากจะ"ค้นหาอะไร"ในองค์ความรู้แขนงหนึ่งในโลกนี้ ที่ศึกษากันมาหลายพันปี ที่เรียกว่า"รัฐศาสตร์" ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีจุดประสงค์และมรรควิธีที่เกี่ยวพันกับ "ส่วนรวม" และ "การเปลี่ยนแปลงสังคม" อย่างชัดเจนที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น